Question: รถเป็นรอยขนแมวมีวิธีแก้ไขอย่างไร
Answer: รถเป็นรอยขนแมว สาเหตุเนื่องมาจากากรใช้ผ้าที่แข็งหรือหยาบเกินไปหรือเกิดจากการที่ไม่ใช้น้ำล้างสิ่งสกปรกออกก่อนที่จะใช้ผ้าทำความสะอาด วิธีการแก้ไขคือ ควรนำรถเข้ารับการขัดสีผิวที่ศูนย์บริการของฮอนด้า และวิธีที่จะถนอมสีรถให้คงสภาพเดิมได้นั้นควรจะขัด้ด้วยแวกซ์อ่อนที่มีสารซิลิโคนผสมเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย
การดูแลรักษารถยนต์ตลอดเวลามิใช่เพียงเพื่อความใหม่และสวยงามเท่านั้น แต่จะเป็นการช่วยรักษาผิวโลหะมิให้ถูกความชื้น กรด ด่าง ที่จะทำให้รถเป็นสนิมและผุ ดังนั้นการบำรุงรักษาสีรถจึงเป็นสิ่งจำเป็นและจะต้องกระทำอย่างถูกวิธีด้วย ซึ่งมีวิธีการดังนี้
1. ใช้ไม้ขนไก่ปัดฝุ่นที่เกาะออกให้หมดก่อนหรือหากรถลุยฝนมาให้ใช้น้ำฉีดโคลนดินออกก่อน โดยเฉพาะตามซอกมุมต่างๆ
2. ใช้น้ำสะอาดผสมแชมพูล้างรถหรือน้ำสบู่ชำระล้างโดยใช้ผ้านิ่มๆ เช่น ผ้าสำลี ผ้าฝ้าย ชุบน้ำเช็ดล้าง จากส่วนบนสุดแล้วไล่ลงมาส่วนล่าง และจะต้องใช้ผ้าแยกกัน สิ่งสำคัญหากใช้ผ้าชำระคราบโคลนควรซักผ้านั้นให้บ่อยครั้ง
ล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 1 หรือ 2 ครั้ง แล้วจึงใช้ผ้าที่แห้งเช็ดน้ำและความเปียกชื้นออกให้หมด
Question: ในห้องเครื่องยนต์มักจะมีคราบน้ำมันสกปรกอยู่ตามชิ้นส่วนต่างๆจะทำความสะอาดได้อย่างไร?
Answer: คราบดำที่ติดอยู่ตามเครื่องยนต์ส่วนใหญ่มักเกิดจากฝุ่นละอองหรือเขม่าไอเสียผสมกับไอน้ำมัน คราบเหล่านี้ เมื่อทิ้งไว้นานๆจะจับแน่นทำความสะอาดได้ยาก วิธีทำความสะอาด นอกจากจะใช้น้ำยาที่ผลิตขึ้นมาเป็นการเฉพาะแล้ว น้ำมันก๊าดก็สามารถใช้ได้ดี ขั้นแรก ล้างห้องเครื่องยนต์ด้วยน้ำผสมแชมพูล้างรถก่อนหลังจากนั้นจึงใช้แปรงจุ่มน้ำมันก๊าดทาลงตรงพื้นที่ที่สกปรกมากๆให้ทั่ว พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้น้ำมันก๊าดถูกชิ้นส่วนที่เป็นยางมากเกินไป หลังจากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด ถ้าล้างด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงก็สามารถนำท่อดูดน้ำยาทำความสะอาดจุ่มลงในภาชนะบรรจุน้ำมันก๊าดเพื่อผสมน้ำมันก๊าดลงในน้ำที่ใช้ฉีดล้างทำความสะอาดได้เลย
Question: รถยนต์ควรล้างหัวฉีดเมื่อไรและมีความจำเป็นแค่ไหน?
Answer: การล้างหัวฉีดในเครื่องยนต์น้ำมันเบาที่มีคุณสมบัติเป็นสารละลายด้วยอย่างน้ำมันเบนซินคงไม่ใช่เรื่องจำเป็นนัก เพราะหัวฉีดของเครื่องยนต์เบนซินไม่ได้ยื่นลงไปในห้องเผาไหม้โดยตรงอย่างเครื่องยนต์ดีเซล แต่จะอยู่หลังลิ้นไอดีหรือในรถบางรุ่นอาจจะอยู่ถอยหลังลงไปในท่อร่วมไอดีเลย ประกอบกับหัวฉีดเป็นชนิดที่เข็มหัวฉีดถูกยกขึ้นด้วยแรงแม่เหล็กไฟฟ้าโอกาสอุดตันจึงเกือบไม่มีเลย
Question: ถ้าเติมน้ำมันเครื่องเกินกว่าจุด MAX จะมีผลต่อเครื่องยนต์อย่างไร?
Answer: ในระบบหล่อลื่นเครื่องยนต์นั้นจะมีปั๊มน้ำมันเครื่องติดตั้งอยู่บริเวณอ่างน้ำมันเครื่อง ปั๊มนี้จะฉีกน้ำมันเครื่องให้ไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องยนต์ทำให้เครื่องยนต์ทำงานได้คล่องตัว และยังช่วยลดความร้อนได้อีกด้วยสำหรับการเติมน้ำมันเครื่อง ถ้าเติมน้อยเกินไปจะทำให้ปั๊มไม่สามารถดูดน้ำมันเครื่องได้เต็มที่ ปริมาณน้ำมันเครื่องที่เข้าไปหล่อล่นจึงไม่เพียงพอส่งผลให้เครื่องยนต์เสียหายได้ ถ้าหากเติมมากเกินไป ปริมาณของน้ำมันเครื่องจะล้นเกินอ่าง น้ำมันเครื่องทำให้ชิ้นส่วนเพลาข้อเหวี่ยงแช่อยู่ในน้ำมันเครื่อง ความหนืดก็จะมีมากขึ้น กำลังของเครื่องยนต์ก็จะออกมาไม่เต็มที่ เพราะจะมีแรงต้านจากน้ำมันเครื่องดังนั้นจึงควรตรวจเช็คระดับน้ำมันเครื่องอย่างสม่ำเสมอ โดยการตรวจเช็คจากเหล็กวัดระดับน้ำมันเครื่องหลังจากดับเครื่องยนต์ประมาณ 3-5 นาที ระดับที่ถูกต้องจะอยู่ที่จุดบนเหล็กวัด และในการวัดควรจอดรถในพื้นที่ราบ
Question: การตรวจสภาพเครื่องยนต์ก่อนออกเดินทางไกล ควรจะปฏิบัติอย่างไร?
Answer: สำหรับท่านที่ออกเดินทางต่างจังหวัดไกลๆ ทำให้เครื่องยนต์ต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นก่อนออกเดินทางไกล จึงควรเตรียมความพร้อมของเครื่องยนต์เพื่อที่จะสามารถพาผู้ขับขี่และผู้โดยสารให้ไปถึงจุดมุ่งหมายปลายทางได้อย่างปลอดภัย สิ่งที่ผู้ขับขี่ควรทำการตรวจสภาพก่อนออกเดินทางไกล
ระดับน้ำมันเครื่อง ให้ตรวจวัดหลังจากดับเครื่องยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลา 2 นาที เพื่อให้น้ำมันเครื่องไหลลงด้านล่างของเครื่องยนต์ก่อน ดึงก้านวัดน้ำมันออกมาแล้วใช้ผ้าเช็ดคราบน้ำมันออกให้หมดแล้วเสียบก้านวัดน้ำมันเครื่องกลับเข้าที่จนสุด ดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออกมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อตรวจดูระดับน้ำมันเครื่องบนปลายก้านวัด ระดับน้ำมันควรอยู่ระหว่างขีดล่างและขีดบน ถ้าระดับน้ำมันเครื่องอยู่ที่ขีดล่างหรือต่ำกว่าให้เติมน้ำมันเครื่องชนิดและระดับความหนืดที่ระบุอยู่ในคู่มือผู้ใช้รถจนถึงระดับที่ขีดบน
ระดับน้ำระบายความร้อน ดูที่ถังสำรองขณะที่อุณหภูมิของเครื่องยนต์เท่ากับอุณหภูมิของอากาศปกติ ระดับน้ำระบายความร้อนในถังสำรองควรอยู่ระหว่างขีดล่างและขีดบน น้ำระบายความร้อนที่กล่าวถึงเป็นส่วนผสมระหว่างน้ำยารักษาหม้อน้ำ และน้ำเปล่าในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ข้อสำคัญคืออย่าเติมน้ำยารักษาหม้อน้ำหรือน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียว
อุปกรณ์ภายในห้องโดยสาร ควรตรวจยางขอบประตู และยางฝากระโปรงท้ายว่าอยู่ในสภาพดี และอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะการที่ยางอยู่ในสภาพดีจะมีส่วนช่วยทำให้ไม่เกิดเสียงรบกวนขณะขับขี่ นอกจากนี้ยังป้องกันไม่ให้ฝุ่น และน้ำเข้ามาทำความเสียหายแก่ห้องสัมภาระอีกด้วย
ระดับน้ำมันเกียร์ (เกียร์อัตโนมัติ) ควรจอดรถในพื้นที่ที่ได้ระดับ เลื่อนคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง P จากนั้นดึงก้านวัดออกเช็ดทำความสะอาดก่อนเสียบเข้าตำแหน่งเดิม แล้วดึงเหล็กวัดออกมาใหม่ ระดับน้ำมันเกียร์ควรอยู่ระหว่างระดับสูงสุดและระดับต่ำสุด ควรใช้น้ำมันเกียร์ชนิดเดียวกับที่ระบุอยู่ในคู่มือผู้ใช้รถ
แบตเตอรี่ ตรวจดูขั้วสายไฟว่าสะอาด และแน่นดีหรือไม่ ตลอดทั้งตรวจระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่ให้อยู่ในระดับบนสุด
ยาง ตรวจแรงดันลมภายในยาง การเติมลมยางสำหรับรถเดินทางไกลนั้น ควรเติมให้มากกว่าปกติ 2-3 ปอนด์/ตารางนิ้ว ส่วนดอกยางนั้นควรมีความลึกไม่น้อยกว่า 1.6 มิลลิเมตร
สัญญาไฟเตือน ตรวจเช็คดูว่าสว่างและดับตามปกติหรือไม่ ตลอดทั้งทดลองเปิดไฟดูทีละระบบ เช่นไฟหน้า ไฟหรี่ ไฟต่ำ ไฟสูง ฯลฯ
Question: การใส่หลอดไฟหน้าด้วยวัตต์ที่สูงกว่ามาตรฐานมีผลอย่างไรต่อรถยนต์?
Answer: วัตต์ของหลอดไฟ หมายถึงกำลังส่องสว่างของหลอดไฟที่แสดงในรูปของปริมาณกำลังไฟ หลอดไฟที่มีวัตต์สูงย่อมต้องการกระแสไฟมากขึ้น การใส่หลอดไฟหน้าด้วยหลอดไฟที่มีวัตต์สูงกว่าที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานของรถรุ่นนั้นๆ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือ ทั้งแบตเตอรี่และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในรถต้องจ่ายกระแสออกมากขึ้น ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่จะจ่ายให้แบตเตอรี่ก็จะน้อยลงเป็นเหตุให้กำลังไฟของแบตเตอรี่ไม่อยู่ในสถานะไฟเต็ม นานๆ ไปกำลังไฟสำรองสำหรับใช้ในการสตาร์ทก็จะไม่พอ ทำให้ไม่สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ นอกจากนั้น แบตเตอรี่ที่มีสภาพไฟไม่เต็มนานๆ ก็จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนเครื่องกำเนิดไฟที่ต้องจ่ายกระแสไฟออกเป็นปริมาณมากๆอยู่ตลอดเวลาก็จะทำให้เกิดการสึกหรอเร็ว อายุการใช้งานก็จะสั้นลง สรุปว่ามีผลเสียไม่คุ้มกับกำลังส่องสว่างที่ได้มา ถ้าจะเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ไฟฟ้าใดๆ ควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้มีความจุเหมาะสมด้วย
Question: น้ำยาแอร์ในรถ โดยเฉลี่ยกี่ปีจึงต้องเปลี่ยนหรือเติมใหม่?
Answer: ระบบปรับอากาศในรถยนต์ก็เหมือนระบบทำความเย็นทั่วไป คือเป็นระบบปิดน้ำยาแอร์หรือสารทำความเย็นที่อยู่ในระบบจะหมุนเวียนเปลี่ยนสถานะจากของเหลวเป็นก๊าซแล้วกลับมาเป็นของเหลวอยู่ภายใน ถ้าไม่มีการรั่วไหลของชิ้นส่วนต่างๆ สารหล่อเย็นจะคงอยู่ในระบบตลอดไป สังเกตได้จากตู้เย็นบางตู้สามารถใช้งานได้เป็นสิบปีโดยไม่ต้องมีการเปลี่ยนหรือเติมสารทำความเย็น
น้ำยาแอร์ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือเติมใหม่ ถ้าระบบไม่มีการรั่วซึม การรั่วซึมอาจเกิดขึ้นได้สองกรณี คือ เกิดจากการผุกร่อนของชิ้นส่วนที่เป็นโลหะอันเนื่องมาจากการสะสมของความชื้น หยดน้ำหรือเกิดจากการชำรุดหรือเสื่อมสภาพของข้อต่อและท่อทางต่างๆ ในระบบ เนื่องจากรถมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวอยู่เป็นจำนวนมาก อุปกรณ์ในระบบปรับอากาศจึงต้องออกแบบและได้รับการดูแลเป็นพิเศษต่างไปจากตู้เย็นหรือเครื่องปรับอากาศที่อยู่ตามบ้านการจัดการกับความชื้นที่สะสมอยู่ในชิ้นส่วนของระบบอุปกรณ์ที่สัมผัสและอ่อนไหวกับความชื้นที่สุดในระบบปรับอากาศรถยนต์ คือ อีวาโพเรเตอร์ หรือ ตู้คอยล์เย็นหรือตู้แอร์ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดความเย็นของระบบไอน้ำในอากาศที่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำจะเกิดขึ้นที่อุปกรณ์นี้ ดังนั้นระบบจึงถูกออกแบบให้มีการระบายหยดน้ำที่เกิดขึ้นด้วย ผู้ใช้รถควรหมั่นสังเกตการระบายหยดน้ำอยู่เสมอ วิธีง่ายๆก็คือ สังเกตว่ามีร่องรอยการไหลของน้ำทุกครั้งที่จอดรถเป็นระยะเวลาหนึ่ง ถ้าร่องรอยการไหลของน้ำหายไปหรือน้อยลงผิดปกติ แสดงว่าระบบระบายน้ำอาจจะอุดตันต้องได้รับการดูแลหรือทำความสะอาดโดยด่วน การใช้ระบบปรับอากาศอย่างถูกต้องในชีวิตประจำวันจะช่วยไล่ความชื้นออกจากตู้แอร์ได้อีกทางหนึ่ง กล่าวคือ หลัง
สตาร์ทเครื่องยนต์ก่อนเปิดสวิตช์ให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน (สวิตช์ที่มีเครื่องหมาย A/C และมีไฟสีเขียวสว่างเมื่อกดเปิด)ให้เปิดสวิตช์พัดลมไปที่ความเร็วสูงสุดทิ้งไว้ 2-3 นาที แล้วจึงกดสวิตช์คอมเพรสเซอร์ก่อนจะลดความเร็วพัดลมลงสู่ตำแหน่งที่ต้องการเพื่อไล่ความชื้นที่อาจตกค้างอยู่ในตู้แอร์ออกให้หมด เช่นเดียวกับเมื่อจะสิ้นสุดการใช้รถประจำวันก่อนจะถึงที่จอดประมาณ 10-15 นาที ควรปิดสวิตช์คอมเพรสเซอร์แล้วเปิดพัดลมไปที่ตำแหน่งความเร็วสูงสุด จนถึงที่หมายจึงค่อยปิดพัดลมแล้วดับเครื่อง วิธีนี้จะช่วยลดการสะสมของหยดน้ำที่ครีบของขดท่อในตู้แอร์ได้การดูแลรักษาข้อต่อและท่อทางต่างๆ สำหรับข้อต่อในระบบปรับอากาศ คงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ใช้รถที่จะตรวจสอบว่ามีรอยรั่วหรือไม่ เพราะอาจต้องใช้เครื่องมือพิเศษ แต่สำหรับท่อทางที่เชื่อมต่อชิ้นส่วนต่างๆ ในระบบซึ่งมีทั้งที่เป็นอะลูมิเนียมและท่อยาง ผู้ใช้รถควรหมั่นตรวจว่าจุดยึดต่างๆ หลุดหลวมหรือมีส่วนใดสัมผัสหรือเสียดสีกับชิ้นส่วนอื่นๆ หรือไม่ ถ้ามีก็แก้ไขหรือให้ศูนย์บริการแก้ไขเสีย เท่านี้ก็สามารถรักษาอายุการใช้งานของสารหล่อเย็นในระบบให้ยืนยาวเท่าๆกับอายุของชิ้นส่วนต่างๆได้แล้ว
Question: การลากรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ สามารถทำได้หรือไม่?
Answer: การลากรถเกียร์อัตโนมัติก็มีหลักปฏิบัติเช่นเดียวกับการลากรถเกียร์ธรรมดาคือหลีกเลี่ยงการลากโดยปล่อยให้ล้อหน้าสัมผัสและหมุนไปบนพื้นถนน โดยปกติเรามักจะใช้รถลากชนิดที่ยกล้อหน้าขึ้น หรือใช้วิธียกรถทั้งคันขึ้นบรรทุกบนรถลากซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด
การลากรถโดยใช้สายลากล้อหน้าที่เชื่อมต่ออยู่กับเฟืองในห้องเกียร์ ล้อรถที่หมุนไปจะทำให้เฟืองเกียร์หมุนไปด้วย แต่ในขณะที่เครื่องยนต์ไม่ได้ทำงานระบบน้ำมันในห้องเกียร์จะไม่มีแรงดัน น้ำมันก็จะไม่ได้ไปหล่อลื่นชิ้นส่วนต่างๆ ทำให้ชิ้นส่วนเหล่านั้นอาจจะสึกหรออย่างรวดเร็วจนเกิดความเสียหายได้ วิธีลากรถแบบนี้จึงเป็นวิธีที่ผิด แม้แต่การลากรถโดยยกล้อหน้าขึ้นก็ควรทำในระยะทางสั้นๆ เท่านั้น (ไม่ควรเกิน 50 กม.)
Question: รถยนต์ที่ติดตั้งระบบเบรก ABS ถ้าดึงเบรกมือกะทันหันล้อจะล็อกหรือไม่?
Answer: ระบบเบรก ABS กับกลไกของเบรกมือนั้นแยกเป็นอิสระต่อกันอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากมีจุดประสงค์ในการใช้งานต่างกัน ส่วนใหญ่เบรกมือจะใช้แรงดึงจากคันโยกส่งผ่านตามสายสลิงไปดึงกลไกเพื่อกดให้ชุดเบรกที่ล้อหลังทำงาน ส่วนระบบ ABS จะส่งแรงเบรกผ่านระบบไฮดรอลิกโดยมีปั๊มและสวิตช์จ่ายแรงดันที่ควบคุมด้วยวงจรคอมพิวเตอร์และเซนเซอร์ตรวจจับการหมุนของล้อ ถ้าล้อใดมีแนวโน้มว่าจะหมุนช้ากว่าล้ออื่นระบบจะบังคับให้ลดแรงดันไฮดรอลิกของล้อนั้นลงแล้วเพิ่มแรงดันถ้าล้อนั้นหมุนเร็วกว่าล้ออื่น แต่สำหรับเบรกมือ เนื่องจากเป็นระบบกลไก ดังนั้นทุกครั้งที่ดึงคันเบรกมือขึ้นล้อหลังทั้งคู่ก็จะหยุดหมุนหรือล็อกตายเหมือนเวลาที่เราดึงคันเบรกมือขณะจอดรถและไม่แนะนำให้ปฏิบัติในขณะที่รถวิ่งอยู่เป็นอันขาดเพราะอาจทำให้รถหมุนหรือพลิกคว่ำได้
Question: รถเสียศูนย์จะมีลักษณะอาการอย่างไร?
Answer: ศูนย์ของรถโดยนัยก็หมายถึงลักษณะทางกายภาพของตัวรถที่กระทำกับพื้นผิวทางวิ่งโดยผ่านล้อทั้งสี่ จริงๆแล้วศูนย์ของรถนั้นค่อนข้างซับซ้อน มีมุมที่กำหนดไว้ให้ล้อทั้งหน้าและหลังกระทำต่อพื้นหรือกระทำต่อกันมากมาย ทุกมุมจะต้องอยู่ในค่าที่กำหนดจึงจะทำให้การขับขี่และบังคับควบคุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ นอกเหนือจากการวัดโดยเครื่องมือพิเศษแล้ว สามารถสังเกตได้ดังนี้
ขณะรถจอดอยู่กับที่ เมื่อจอดรถบนพื้นผิวที่เป็นระนาบ พวงมาลัยตรง รถจะต้องไม่เอียงหรือยุบตัวไปข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าพิจารณาดูหน้ายางต้องไม่มีร่องรอยของการสึกที่ผิดปกติ เช่น สึกเป็นบั้ง, สึกเฉพาะด้านนอกหรือด้านใน, ดอกยางสึกเป็นรอยเฉือนมีขอบขึ้นคม เป็นต้น เพราะการสึกที่ผิดปกติหมายถึงศูนย์ล้อที่ผิดปกติด้วย
ขณะขับขี่ บนทางเรียบตรง รถต้องไม่มีอาการดึงไปทางซ้ายหรือทางขวา, สั่นสะท้าน ขณะเข้าโค้งในสภาวะปกติต้องไม่มีอาการดื้อโค้ง (Understeer) หรือไวโค้ง (Oversteer)
วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น