วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

แบตเตอรี่ ติด รถ

แบตเตอรี่รถยนต์ ไม่ใช่แหล่งผลิตไฟฟ้า แต่เป็นเพียงไฟฟ้าสำรอง เลือกไม่ยุ่ง ดูแลไม่ยาก และไม่แพง แต่มีรายละเอียดไม่น้อย

แบตเตอรี่รถยนต์ไม่เหมือนถ่านไฟฉาย ไม่เหมือนถ่านแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ (ที่มีแต่การใช้ไฟฟ้าออกไปอย่างเดียว เมื่อหมดแล้วก็ต้องเปลี่ยนทิ้ง) โดยเป็นเพียงไฟฟ้าสำรอง เมื่อเครื่องยนต์ติดและถูกใช้งาน ก็จะมีการประจุไฟฟ้าเพิ่ม และถูกใช้งานออกไปหมุนเวียนกัน เติมประจุไฟฟ้าเข้า-ออกจากแบตเตอรี่อยู่เสมอ มิได้ใช้ออกตลอดเวลาจนกว่าไฟจะหมด

ในกรณีที่แบตเตอรี่หมดต้องนับว่าเป็นความผิดปกติ ไม่ใช่หมดแบบถ่านไฟฉายทั่วไป มี 2 กรณี คือ หมดเพราะเก็บไฟไม่อยู่-แบตเตอรี่หมดอายุ (หลังใช้แบตเตอรี่ไป 1.5-3 ปี) หรือ ระบบไดชาร์จบกพร่อง

รถยนต์ที่ใช้งานแบตเตอรี่ยังไม่หมดสภาพและระบบไดชาร์จปกติ แบตเตอรี่ไม่มีการหมดโดยมีการประจุและใช้ไฟฟ้าหมุนเวียนกันตลอด แบตเตอรี่มีการใช้ไฟออกอย่างเดียวเฉพาะช่วง สตาร์ทเครื่องยนต์ ที่มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ไดสตาร์ทและระบบต่าง ๆ ของเครื่องยนต์ เมื่อเครื่องยนต์ทำงานแล้ว ไดชาร์จ (หรือยุคใหม่เป็นอัลเตอร์เนเตอร์ แต่ก็ยังเรียกรวมว่าไดชาร์จ) ก็จะทำหน้าที่ประจุไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง โดยมีคัตเอาต์ (ทั้งแบบแยกหรือแบบรวมกับตัวไดชาร์จ) ทำหน้าที่ควบคุมการตัดการประจุ เมื่อไฟฟ้าเต็มแบตเตอรี่และประจุต่อเมื่อไฟฟ้าในแบตเตอรี่ไม่เต็มหรือพร่องลง

ทำไมแบตเตอรี่หมด

ถ้าไดชาร์จปกติแบตเตอรี่ไม่เสื่อม แล้วไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มเติมจนกินกระแส ไฟฟ้ามากเกินไปแบตเตอรี่จะไม่มีการหมด นอกจากในเครื่องยนต์รอบเดินเบา ไดชาร์จ ผลิตไฟฟ้าได้น้อยกว่าการใช้อยู่มาก และจอดนิ่งนานหลายชั่วโมง แบตเตอรี่อาจหมดได้ ซึ่งไม่ค่อยพบปัญหานี้ในการใช้งานบนสภาพจราจรปกติ เพราะในการใช้รถยนต์ เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าจากสารพัดอุปกรณ์ เช่น เครื่องยนต์แอร์ เครื่องเสียง ไฟฟ้าส่องสว่าง ฯลฯ ก็จะมีไดชาร์จคอยส่งไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้เพิ่มกลับเข้าไปสู่แบตเตอรี่อยู่ตลอด

หากแบตเตอรี่หมด เพราะไดชาร์จผิดปกติ คือผลิตไฟฟ้าไม่เพียงพอ แต่แบตเตอรี่ ยังไม่หมดสภาพก็มีการดึงไฟฟ้าออกจากแบตเตอรี่ไปใช้เรื่อย ๆ ก็แค่ซ่อมแซม ระบบไดชาร์จให้เป็นปกติ ใช้เครื่องประจุแบตเตอรี่ให้เต็ม หรือทำให้เครื่องยนต์ติด แล้วให้ไดชาร์จประจุไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ (ช้าหน่อย) ก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ (มักไม่ค่อยเกิดปัญหานี้) หลังจอดรถยนต์ไว้ ถ้าแบตเตอรี่หมดหรือกระแสไฟฟ้าอ่อนลงมากจนไดสตาร์ท หมุนเครื่งยนต์ไม่ไหว ขณะที่ระบบไดชาร์จและเครื่องยนต์ปกติ แสดงว่า แบตเตอรี่หมดสภาพ

ถ้าจำเป็นและพอมีกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่เหลือเพียงพอสำหรับเครื่องยนต์ เช่นระบบหัวฉีด ปั๊มส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ และเป็นระบบเกียร์ธรรมดา ก็สามารถเข็นใส่เกียร์ 2 พอเข็นได้เร็วค่อยถอนคลัตช์พร้อมกดคันเร่ง เครื่องยนต์ก็จะกระตุกติดทำงานได้ หากไม่มีคนช่วยเข็นรวมถึงรถยนต์ระบบเกียร์อัตโนมัติต้องใช้รถยนต์อีกคันที่ติด เครื่องยนต์ไว้หรือยกแบตเตอรี่พ่วงเข้าด้วยกันอย่างระมัดระวังเมื่อเครื่องยนต์สตาร์ทติด ก็เลิกพ่วง แม้แบตเตอรี่เสื่อมหรือเก็บไฟฟ้าไม่อยู่ แต่ถ้าระบบไดชาร์จเป็นปกติ และเครื่องยนต์ทำงานแล้วก็จะสามารถขับต่อเนื่องไปได้ตลอด โดยควรเร่งรอบเครื่องยนต์ ตอนจอดไว้หน่อย เพื่อให้ไดชาร์จผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น แต่ต้องระวังไม่ให้เครื่องยนต์ดับเพราะเมื่อดับแล้วก็ต้องลุ้นกันอีกครั้งว่า ไฟฟ้าในแบตเตอรี่จะมีพอ สำหรับไดสตาร์ท หมุนเครื่องยนต์อีกครั้งหรือไม่

นอกจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในกรณีนี้ ด้วยการเข็นกระตุกเครื่องยนต์ หรือการพ่วงแบตเตอรี่แล้ว การแก้ไขถาวรที่ดี คือ เปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่

เปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหญ่ แอมป์สูงดีไหม

เมื่อแบตเตอรี่หมดสภาพหรือมีการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้วค่อยคิดถึงคำถามนี้ ถ้าแบตเตอรี่ไม่หมดสภาพในขณะที่ยังไม่ได้เพิ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ การเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหญ่-แอมป์สูง ถือเป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพราะผู้ผลิตรถยนต์ได้คำนวณ และเลือกขนาดของแบตเตอรี่ต่ำพอเหมาะอยู่แล้ว

หากแบตเตอรี่หมดสภาพแล้วต้องเปลี่ยนใหม่ แล้วมีช่องพอสำหรับแบตเตอรี่ใหญ่ และแบตเตอรี่ลูกเดิมมีแอมป์ไม่สูงนักก็ควรเปลี่ยนลูกใหญ่-แอมป์สูงขึ้น (เสมือนมีถังน้ำสำรองใหญ่ขึ้น) เพราะ 4 เหตุผล คือ

1. ราคาแพงขึ้นไม่กี่ร้อยบาท
2. มีกำลังไฟฟ้าสำรองมากขึ้น
3. มีกำลังไฟฟ้าแรงขึ้น
4. ไม่ได้ทำให้ไดชาร์จทำงานหนักขึ้นหรือพังเร็ว

สรุปคือ มีแต่บวกไม่มีลบเลย นอกจากเสียเงินเพิ่มไม่กี่ร้อยบาท

หากต้องจอดนิ่งเครื่องยนต์เดินเบาบนการจราจรติดขัดนาน ๆ ไดชาร์จได้น้อย ก็มีพลังไฟฟ้าสำรองมากขึ้น รถยนต์ทุกรุ่นอย่าเลือกเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่มีแอมป์ต่ำลงจาก มาตรฐาน และถ้ามีโอกาสควรเลือกแบตเตอรี่ลูกใหม่ที่มีแอมป์สูงขึ้นประมาณ 10-30 แอมป์ โดยดูจากตัวเลขที่ระบุบนตัวแบตเตอรี่

การประจุไฟฟ้าสู่แบตเตอรี่ในครั้งแรกสุดหรือครั้งใด ๆ ไม่ใช่เป็นการประจุจากไดชาร์จ ควรใช้วิธีชาร์จช้า ประมาณ 5-10 ชั่วโมงขึ้นไป เพื่อให้แบตเตอรี่ไม่เสื่อมสภาพง่าย แต่ทางร้านมักใช้วิธีชาร์จเร็วเพื่อรีบบริการลูกค้า และจะทำให้แบตเตอรี่ลูกนั้น มีอายุไม่มาก ต้องเวียนมาเปลี่ยนใหม่เร็วขึ้นเล็กน้อย

อายุการใช้งานแบตเตอรี่ 1.5-3 ปี

แบตเตอรี่ทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณ 1.5-3 ปี เท่านั้น โดยดูได้จากตัวเลขที่ตอกลง บนตัวแบตเตอรี่ ซึ่งส่วนใหญ่ร้านค้าจะมีการตอกเอง โดยปกติ เมื่อเกิน 1.5-2 ปี ก็ถือว่าคุ้มค่าแล้วสำหรับแบตเตอรี่ทั่วไปที่ผลิตในประเทศและจำหน่ายในราคาลูกละ 1,000 กว่าบาท

เมื่อเกินอายุ 2-2.5 ปี ถ้ากังวลให้ถือโอกาสเปลี่ยนก่อนก็ไม่สิ้นเปลืองมากนัก แบตเตอรี่-แอมป์สูง มักมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงควรคำนึงถึงขนาดของฐานที่จะวางลงไป เมื่อแบตเตอรี่ลูกใหญ่-แอมป์สูงขึ้น ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากถึงกับดัดแปลงฐานที่จะวาง หากไม่ต้องการแบตเตอรี่ลูกใหญ่-แอมป์สูงมากจริง ๆ เลือกขนาดเท่าที่พอจะวางได้ก็พอ

ชนิด

มี 2 ชนิดหลัก คือ แบตเตอรี่แบบเปียก และแบบแห้ง

แบบเปียก (ใช้กันส่วนใหญ่) แบ่งเป็น 2 แบบย่อย คือ ต้องเติมและดูแลน้ำกลั่นบ่อย (อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง) และแบบดูแลไม่บ่อย (MAINTAINANCE FREE) กินน้ำกลั่นน้อยมาก โดยทั้ง 2 แบบจะมีฝาปิดเปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น มีอายุการใช้งาน ประมาณ 1.5-3 ปี

แบบแห้ง ทนทาน ราคาแพง ไม่ต้องเติมน้ำกลั่น มีอายุการใช้งานมากกว่าแบบเปียก ประมาณ 3-6 เท่าหรือประมาณ 5-10 ปี

ขี้เกลือขั้วแบตเตอรี่

อาจมีการขึ้นขี้เกลือ ซึ่งช้ามาก และทำให้การส่งกระแสไฟฟ้าด้อยลง การทำความสะอาดที่ดี ต้องถอดขั้วออกและทำความสะอาดทั้งขั้วบนแบตเตอรี่และขั้วบนสายไฟฟ้า พร้อมเคลือบด้วยจาระบีหรือน้ำมันเครื่อง ถ้าไม่มีความรู้เชิงกลไก ใช้น้ำอุ่นราดผ่านก็เพียงพอในระดับหนึ่ง

ตรวจน้ำกลั่นทุกสัปดาห์

ควรตรวจระดับน้ำกลั่นในแบตเตอรี่ทุกสัปดาห์ ควรเติมให้ได้ระดับ โดยถ้าแบตเตอรี่ มีผิวด้านข้างใส ก็ส่องดูได้ แต่ถ้าผิวทึบหรือเล็งด้านข้างไม่สะดวก เติมน้ำกลั่นให้ท่วม แถบแผ่นธาตุไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร อย่าใช้น้ำกรองหรือใช้น้ำที่ไม่ใช่น้ำกลั่นเติม แบตเตอรี่เพราะจะทำให้แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานสั้นลง


แบตเตอรี่รถยนต์ ไม่แพง เสียยาก ดูแลง่าย แต่อย่ามองข้าม เพราะเป็นพลังไฟฟ้าสำรอง ในรถยนต์ทุกคัน

การเปลี่ยนแบตเตอรี่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเปลี่ยนแบตเตอรี่ ก็ต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้การเสียหายเกิดขึ้น ข้อพึงระวังสำหรับการเปลี่ยนแบตเตอรี่เอง คือ

1. ต้องดับเครื่องก่อนเปลี่ยนแบตเตอรี่ทุกครั้ง (OFF)
2. ในการถอดแบตเตอรี่ ต้องถอดขั้วลบ (-) ออกก่อนเสมอ เพื่อป้องกัน การลัดวงจร
3. และเมื่อเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่เข้าไป ต้องใส่ขั้วบวก (+) ก่อนเสมอ

จำหลักง่ายๆ "ถอดลบ (-) ใส่บวก (+)" เสมอ เพื่อป้องกันการลัดวงจรและเกิดประกายไฟกับรถยนต์แสนรักของคุณ *******



บางครั้งแบตเตอรี่รถยนต์ของเรา หรือรถยนต์คันอื่นๆ เกิดการไฟหมดอาจจะต้องมีการต่อพ่วงกัน เราจึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้การต่อพ่วงอย่างถูกวิธีไว้บ้าง

เริ่มจากจอดรถใกล้กันแต่อย่าให้สัมผัสกัน ใช้สายพ่วงที่ใหญ่แต่ไม่ยาวเกินไป จากนั้นปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

1. ต่อขั้วบวก (+) ของสายพ่วงเส้นที่ 1 เข้ากับขั้วบวก (+) ของแบตเตอรี่ลูกที่ไฟหมด
2. ต่อขั้วอีกข้างหนึ่งของสายพ่วงเส้นที่ 1 เข้ากับขั้วบวก (+) ของแบตเตอรี่ลูกที่ดี
3. ต่อขั้วลบ (-) ของสายพ่วงเส้นที่ 2 เข้ากับขั้วลบ (-) ของแบตเตอรี่ลูกที่ดี
4. ต่อขั้วอีกข้างหนึ่งของสายพ่วงเส้นที่ 2 เข้ากับโครงรถคันที่แบตเตอรี่ไฟหมด
5. เมื่อสตาร์ทรถยนต์คันที่ไฟหมด ติดแล้ว จึงค่อยถอดสายพ่วงแบตเตอรี่ทวนตามลำดับที่กล่าวมาข้างต้น



การดูแลแบตเตอรี่ ให้ถูกวิธีจะช่วยให้เราใช้งานแบตเตอรี่ได้คุ้มค่าที่สุด ด้วยวิธีการง่ายๆ ดังนี้

1. ตรวจสอบสภาพของแบตเตอรี่เสมอ อย่าให้มีรอยแตกร้าว เพราะจะทำให้แบตเตอรี่ไม่เก็บประจุไฟฟ้า
2. ดูแลขั้วแบตเตอรี่ให้สะอาดเสมอ ถ้ามีคราบเกลือเกิดขึ้น ให้ทำความสะอาด
3. ตรวจสภาพของระดับน้ำกลั่นแบตเตอรี่ทุกๆ 1 สัปดาห์
4. ตรวจเช็กระบบไฟชาร์จของอัลเตอร์เนเตอร์ ว่าระบบไฟชาร์จต่ำหรือสูงไป ถ้าต่ำไป จะมีผลทำให้กำลังไฟไม่พอใช้ในขณะสตาร์ตเครื่องยนต์ หรือถ้าสูงไปจะทำให้ น้ำกรดและน้ำกลั่นอยู่ภายในระเหยเร็วหรือเดือดเร็วได้ ในช่วงเวลาเดียวกัน
5. ช่วงที่มีอากาศหนาวหรืออุณหภูมิต่ำ ประสิทธิภาพการแพร่กระจาย ของน้ำกรด และน้ำกลั่นจะด้อยลง เพราะฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้กระแสไฟมากๆ ขณะอากาศเย็น
6. ควรศึกษาถึงการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ให้เหมาะสมกับแบตเตอรี่และไดชาร์จ เพื่อที่จะให้วงจรการไหลของไฟฟ้าเป็นไปด้วยดี
7. ควรเติมน้ำกลั่นให้ได้ตามระดับที่กำหนด ไม่ควรเติมต่ำหรือสูงเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น